Happy International Women’s Day

หากเราไม่ก้าวข้ามความท้าทายโอกาสที่จะก้าวเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็จะหลุดลอยไป และเพื่อฉลองวันสตรีสากลในปีนี้ ด้วยธีม
#ChoosetoChallange ทาง Borboleta Bag ได้นำเสนอ 3 เรื่องราวของผู้หญิงจาก 3 วงการ ที่ได้กล้าท้าทายความเชื่อเดิมๆ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้สาวๆ ทุกคนค่ะ

“แรงบันดาลใจมาในทุกรูปแบบและมักพบเจอได้ในสถานที่ที่ไม่คาดคิด” – Rachel Khoo

สาวลอนดอนที่มีพ่อเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและแม่ชาวออสเตรียได้โตมากับอาหารที่ผสานไปด้วยทั้งสามวัฒนธรรมเธอจบการศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบบจาก Central Saint Martins College of Art and Design และทำงานประชาสัมพันธ์สายแฟชั่นให้กับแบรนด์ Thomas Pink แต่ด้วยใจรักในด้านการทำอาหารเธอจึงตัดสินใจลาออกและมุ่งสู่กรุงปารีส เพื่อลงเรียนคอร์ส Pâtisserie (ขนมหวานฝรั่งเศส) ที่ Le Cordon Bleu และได้สานฝันการมีอาชีพในวงการนี้ด้วยตัวของเธอเองโดยเสนอคอนเซ็ปหนังสือทำอาหาร The Little Paris Kitchen ไปยังสำหนักพิมพ์ Penguin ในกรุงลอนดอนซึ่งภายหลังได้กลายเป็นหนังสือติดยอดอันดับขายดีเธอได้เปิดร้านอาหารในอพาทเม้นท์ที่แสนกระทัดรัดของเธอในปารีส เพื่อทดลองเมนูต่างๆโดยมีเพียงเก้าอี้เสิร์ฟสำหรับสองที่นั่งแต่กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดียต่อมารายการโทรทัศน์ The Little Paris Kitchen : Cooking with Rachel Khoo ได้ออกฉายผ่านช่อง BBC Two เธอจึงกลายเป็นที่รักของทุกคนในเวลาไม่ช้าด้วยเมนูที่น่าทานแต่ทำได้ง่าย สไตล์คอมฟอร์ตฟู้ดในห้องครัวที่เล็กพริกขี้หนูของเธอ พร้อมกับเสน่ห์การนำเสนออย่างเป็นกันเองแต่ถึงแม้ภายนอกเธอจะดูเป็นสาวหวานแต่เธอได้เคยให้สัมภาษณ์และวิจารณ์แบบตรงไปตรงมาถึงประเด็นที่ว่าทำไมรายการอาหารส่วนมากแทบจะไม่มีเชฟที่เป็นผู้หญิงเลย

จากร้านอาหารและครัวไซส์มินิของเธอได้นำไปสู่การต่อยอดอย่างไม่รู้จบเธอมีรายการอาหารอีกหลายรายการเช่น Rachel Khoo’s Kitchen Notebook: London, My Swedish Kitchen, Rachel Khoo’s Simple Pleasures ฯลฯ ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ที่ประเทศสวีเดนกับสามีและลูกทั้งสอง โดยหนังสือล่าสุดของเธอคือ The Little Swedish Kitchen

“เราไม่พบโอกาสสำหรับศิลปินเพศหญิงและศิลปินผิวสีเลยและทุกคนแสร้างทำเป็นว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่” – Guerrilla Girls

Guerrilla Girls คือใคร? ไม่มีใครอาจรู้ได้เนื่องจากพวกเธอสวมหน้ากากกอริลลา และใช้ชื่อผู้หญิงในอดีตที่ทรงอิทธิพลในวงการศิลปะเป็นนามแฝง พวกเธอคือกลุ่มศิลปินหญิงเฟมินิสต์
ที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางศิลปะและการเมืองในกรุงนิวยอร์กซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1985 และเคยมีสมาชิกมากถึง 55 คนในทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้นและทุกสีผิวโดยปัจจุบันพวกเธอยังคงต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเพศและการแบ่งแยกทางด้านสีผิวในโลกศิลปะ รวมไปถึงประเด็นการเมือง วงการฮอลลีวูด และ ป๊อบคัลเจอร์ สิ่งที่จุดประกายให้พวกเธอออกมาเคลื่อนไหว
คือเหตุการณ์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) จัดนิทรรศการที่มีชื่อว่า “An International Survey of
Painting and Sculpture” ในปี 1984 โดยมีศิลปินหญิงเพียง 13 คน จากบรรดาศิลปินจำนวน 169 คน และไม่มีศิลปินผิวสีแม้แต่คนเดียว

การสวมหน้ากากกอริลลาเกิดจากที่สมาชิกในอดีตสะกดคำว่า Guerrilla ซึ่งแปลว่ากองโจร เป็น Gorilla พวกเธอจึงได้ไอเดียในการใช้หน้ากากกอริลลาในการปิดบังใบหน้าเพื่อเจาะจงไปถึงประเด็นที่พวกเธอต้องการสื่อมากกว่าการเน้นไปที่บุคลิกส่วนตัวรวมทั้งยังเป็นการปกป้องตนเองเนื่องจากพวกเธอมีกลยุทธ์แบบแหกคอกออกบุกไปตามท้องถนน เพื่อประท้วงเปิดโปงและโจมตีความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการศิลปะผ่านการใช้สื่อสิ่งพิมพ์และวีดิโอด้วยคำพูดที่เสียดสีและการเสนอสถิติข้อมูล ในรูปแบบที่ตลกขบขันแบบร้ายๆรวมไปถึงการจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

ทำให้พวกเธอเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้างโดยผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือโปสเตอร์ “Do Women Have To Be Naked To Get Into the Met. Museum?” หรือ “ผู้หญิงจำเป็นต้องเปลือย ถึงจะได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ the Met?” เนื่องจากมีผลงานศิลปะของศิลปินเพศหญิงเพียง 5% จากคอลเล็คชั่นศิลปะสมัยใหม่ทั้งหมด และ 85% ของผลงานที่แสดงอยู่นั้นเป็นภาพนู้ดของผู้หญิง

“ฉันเริ่มเห็นเสื้อผ้าที่ฉันเคยมีส่วนร่วมให้กลายเป็นขยะหลังการใช้ ตามร้านสินค้ามือสอง ถูกอัดไว้ตามราวสินค้าลดราคาหรือกลายเป็นผ้าขี้ริ้วบนถนน” – Karen Glass

Karen Glass ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ø Glass (Zerøwaste Glass) แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกสัญชาติอเมริกันที่ไม่ได้เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่เสื้อผ้า Zero Waste แต่ยังร่วมมือกับ Beloved Atlanta เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่ปลอดภัยฟื้นฟูสภาพจิตใจและยกระดับความเป็นอยู่แก่ผู้หญิงที่รอดมาจากการค้ามนุษย์และการถูกล่วงละเมิดรวมถึงยังเป็นแพลทฟอร์มการขายสำหรับศิลปินที่มีแนวร่วมเดียวกัน

แบรนด์ Ø Glass ทำการอัพไซเคิล (Upgrade +Recycling) เสื้อผ้ามือสองและเศษผ้าเหลือทิ้งให้กลายเป็นเสื้อผ้าใหม่ ที่มีคุณค่าและสวยงามอย่างน่าเหลือเชื่อ โดยมีของเสียเพียง 0.05% ในกระบวนการการผลิต และใช้ช่างมือมือหญิง 6-8 คน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น โดยมุ่งหวังที่จะให้คนตระหนักถึงผลลัพธ์ในการตัดสินใจซื้อและสร้างแรงบันดาลใจให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ด้วยคติ การใช้สิ่งของน้อยชิ้นแต่ทำให้เกิดคุณค่าที่มากกว่า

ก่อนที่จะเกิดแบรนด์ Ø Glass, Karen ได้ทำงานด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นมายาวนานและผลิตสินค้าใช้แล้วทิ้งมาอย่างนับไม่ถ้วน จนปี 2015 เธอได้เริ่ม Ø Glass ในระหว่างที่เธออยู่ฟลอริด้า
และพัฒนาฟาร์มออแกนิคในพื้นที่ทรัพย์สินของเธอเอง เธอใช้เวลาในการพัฒนาแบรนด์อยู่หลายปี และค่อยๆ ตามหาวัตถุดิบใหม่ๆ (ที่เป็นของเก่าจากคนอื่น) ทั้งเสื้อผ้าและเศษผ้า ที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ จากตลาดนัด โรงงาน และสถานที่ต่างๆ และนำแต่ละชิ้นมาตัดเย็บจนกลายเป็นเสื้อผ้าที่งดงาม ไร้กาลเวลา แต่สวมใส่สบาย ใส่ได้ทุกวัน และใส่ได้ไปตลอด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *